1. ความสำคัญ
บริษัท ควอลลีเทค จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการเคารพสิทธิมนุษยชนด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเสรีภาพของบุคคล โดยไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ สีผิว เพศ อายุ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ชนชั้น ความพิการ เพศสภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางสังคม โรคประจำตัวที่ไม่มีผลต่อการปฏิบัติงาน แนวคิดทางการเมือง ตลอดจนสถานภาพเกี่ยวกับการสมรส และอื่นๆ ตามหลักการพื้นฐานที่สำคัญของกฎหมายสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
2. ขอบเขตนโยบาย
นโยบายมนุษยนชนและการปฏิบัติด้านแรงงานฉบับนี้ ให้มีผลบังคับใช้กับบริษัท ควอลลีเทค จำกัด (มหาชน) บริษัทย่อย บริษัทร่วมทุน และบริษัทที่มีอำนาจควบคุม โดยให้นำไปปฏิบัติใช้ตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด
บริษัทฯ มุ่งหวังและส่งเสริมให้คู่ค้า ตัวแทนจำหน่าย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจธุรกิจของบริษัทฯ ให้การสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายนี้ด้วย
3. คำนิยาม
3.1 บริษัทฯ หมายถึง บริษัท ควอลลีเทค จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยทุกบริษัทที่บริษัทฯ มีอำนาจควบคุม
3.2 สิทธิมนุษยชน (Human Right) หมายถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่มีมาแต่กำเนิด และความเสมอภาค ที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา เพศ สีผิว ภาษา เผ่าพันธุ์ หรือสถานะอื่นใด (ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)
3.3 การใช้แรงงานบังคับ (Forced Labor) หมายถึง งานที่บุคคลทำงานด้วยความไม่สมัครใจ โดยอาศัยวิธีการ หรืออ้างเหตุเพื่อการลงโทษ หรือการบีบบังคับ การข่มขู่ การข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการ เป็นผลให้บุคคลทำงานอย่างไม่เต็มใจ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะขัดขืนได้ (ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน)
3.4 การใช้แรงงานเด็ก (Child Labor) หมายถึง การให้เด็กทำงานจนทำให้สูญเสียการดำเนินชีวิตในวัยเด็ก รวมถึงการบั่นทอนศักยภาพและความภูมิใจของเด็ก ซึ่งเป็นอันตรายต่อการพัฒนาทางร่างกายและจิตใจของเด็ก รวมทั้งการให้เด็กทำงานซึ่งเป็นอันตรายต่อสภาพจิตใจ ร่างกาย สังคมและศีลธรรมของเด็ก ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาโดยสูญเสียโอกาสในการเข้าเรียนในโรงเรียน มีพันธะทำให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนอย่างถาวรหรือทำให้เด็กต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ทำให้เด็กมีการทำงานที่ยาวนานและทำงานหนัก (ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน)
3.5 ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) หมายถึง กิจกรรมที่มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทฯ ตลอดทั้งกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยมีขั้นตอนของกระบวนการสร้างคุณค่าที่ต่อเนื่องกันเป็นทอดๆ เหมือนห่วงโซ่ของกิจกรรมที่มีความเกี่ยวพันกัน เพื่อสร้างประโยชน์สุดท้ายในผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อส่งต่อไปยังลูกค้า
3.6 ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบเชิงบวกหรือลบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ ตลอดจนสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
4. วัตถุประสงค์
4.1 ป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดหรือสร้างผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงานในทุกกิจกรรมการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ
4.2 ป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดการปฏิบัติด้านแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม การเลือกปฏิบัติและการถูกคุกคามทุกประเภท รวมถึงส่งเสริมการทำงานร่วมกัน และการให้โอกาสบุคลากร สามารถพัฒนาตนเองอย่างเท่าเทียมกัน
4.3 ส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงานของคู่ค้าและผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้มีความสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของบริษัทฯ และกฎหมายสากล
5. นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน
คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ ต้องตระหนักถึงความสำคัญและเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในทุกกิจกรรมของบริษัทฯ โดยยึดถือและปฏิบัติตามนโยบาย ดังนี้
5.1 ปฏิบัติต่อทุกคนตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมเป็นธรรมบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่แบ่งแยกถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ สัญชาติ เพศ อายุ สีผิว ศาสนา การแสดงออกทางความคิด สภาพร่างกาย ฐานะ ชาติตระกูล หรือความแตกต่างใดๆ
5.2 ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่จะไม่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ที่เกี่ยวข้อง
5.3 สนับสนุนและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ดูแลมิให้ธุรกิจของบริษัทฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
5.4 สื่อสาร เผยแพร่ ให้ความรู้ ทำความเข้าใจ กำหนดแนวทาง สอดส่องดูแล แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อให้มีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม เคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน
5.5 จัดให้มีการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Impact Assessment) และการปฏิบัติด้านแรงงาน ทั้งที่เกิดขึ้นจริงและอาจจะเกิดขึ้นจากกิจกรรมทางธุรกิจและในห่วงโซ่คุณค่า พร้อมกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
5.6 บริษัทฯ จะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองบุคคลที่แจ้งเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามแนวทางปฏิบัติเรื่องการแจ้งเบาะแสการกระทำผิด และมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสที่บริษัทฯ กำหนดไว้
5.7 บริษัทฯ จะพัฒนาและดำเนินกระบวนการจัดการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะระบุประเด็นและประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน วางแผนและกำหนดแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการตรวจสอบและติดตามผล โดยจัดให้มีกระบวนการบรรเทาผลกระทบที่เหมาะสมในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
5.8 นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนฉบับนี้ ครอบคลุมสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ที่สำคัญของบริษัทฯ ได้แก่ พนักงาน ลูกค้าและผู้มาใช้บริการ คู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางการดำเนินงานกับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม ดังนี้
5.8.1 สิทธิของพนักงาน : จัดให้มีสภาพการจ้างงานที่เหมาะสมและเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ส่งเสริมการยอมรับความหลากหลายภายในองค์กร รวมถึงการเปิดโอกาสรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ เข้าทำงานกับบริษัทฯ และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของพนักงานทุกคน ปราศจากการข่มขู่คุกคามในทุกรูปแบบ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน เพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างและสภาพแวดล้อมการทำงานให้ดีอยู่และเหมาะสมอยู่เสมอ
5.8.2 สิทธิของลูกค้าและผู้มาใช้บริการ : ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของลูกค้าและผู้มาใช้บริการ ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและเป็นธรรมให้ความสำคัญต่อมาตรฐานการให้บริการต่อลูกค้าทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ และให้ความสำคัญต่อความเป็นส่วนตัวของลูกค้าและผู้ที่มาใช้บริการ รวมถึงเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวผ่านการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่มีประสิทธิภาพและระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่มีมาตรฐาน
5.8.3 สิทธิของคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ : ส่งเสริมให้มีการจ้างงานที่เหมาะสมและเป็นธรรมตามที่กฎหมายกำหนดและมาตรฐานสากลด้านสิทธิแรงงาน รวมทั้งการกำหนดชั่วโมงการทำงาน การจ่ายค่าจ้างอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของแรงงาน ปราศจากการใช้แรงงานผิดกฎหมาย หรือการขมขู่คุกคามแรงงานในทุกรูปแบบ
5.8.4 สิทธิของสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม : ดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยเคารพสิทธิของสังคมและชุมชน ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของชุมชน ตลอดจนดูแลรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงาน โดยควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยจัดให้มีช่องทางการแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆ จากชุมชน รวมถึงกำหนดให้ต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชากรในพื้นที่ชุมชน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับสังคมและชุมชนได้อย่างเหมาะสม
6. แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงาน
6.1 แนวปฏิบัติด้านการใช้แรงงานบังคับ ไม่กระทำและสนับสนุนให้มีการใช้แรงงานบังคับทุกรูปแบบทั้งภายในบริษัทฯ และภายในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทฯ และจะไม่ใช้การลงโทษทางกาย และการคุกคามจากการถูกกระทำรุนแรง หรือรูปแบบอื่นๆ ของการข่มเหงทางกาย เพศ จิตใจ หรือทางวาจา เป็นมาตรการด้านระเบียบวินัยหรือการควบคุม
6.2 แนวปฏิบัติด้านการใช้แรงงานเด็ก ไม่ว่าจ้างและไม่สนับสนุนให้มีการว่าจ้างเด็กที่มีอายุไม่ถึงเกณฑ์ตามกฎหมายทั้งภายในบริษัทและภายในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทฯ และจะไม่ให้และไม่สนับสนุนให้แรงงานเด็กทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย หรืออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย และความปลอดภัย
6.3 แนวปฏิบัติด้านการใช้แรงงานหญิง ไม่ให้พนักงานหญิงทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งบริษัทฯ จะจัดให้พนักงานหญิงที่มีครรภ์ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขอนามัยและความปลอดภัยต่อการมีครรภ์ รวมทั้งบริษัทฯ จะไม่เลิกจ้าง ลดตำแหน่ง หรือลดสิทธิประโยชน์ของพนักงานหญิง เพราะเหตุจากการมีครรภ์
6.4 แนวปฏิบัติด้านการใช้แรงงานคนพิการ ส่งเสริมสิทธิและการจ้างแรงงานคนพิการ ให้ทำงานที่เหมาะสม จัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานของแรงงานคนพิการ และดูแลให้การจ้างแรงงานคนพิการเป็นไปตามกฎมหมาย
6.5 แนวปฏิบัติด้านการใช้แรงงานข้ามชาติ ดำเนินกระบวนการจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างมีจริยธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย โดยไม่เลือกปฏิบัติและป้องกันไม่ให้เกิดการบังคับใช้แรงงานทุกรูปแบบ จ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการอย่างเป็นธรรม รวมถึงดูแลและตรวจสอบการจ้างแรงงานข้ามชาติให้เป็นไปตามกฎหมายของแต่ละประเทศที่ดำเนินธุรกิจอยู่
6.6 แนวปฏิบัติด้านโอกาสที่เท่าเทียม ไม่แบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติ ไม่กระทำการและไม่สนับสนุนให้มีการเลือกปฏิบัติในการจ้างแรงงาน การจ่ายค่าจ้างและค่าตอบแทนการทำงาน การให้สวัสดิการ โอกาสในการฝึกอบรมและพัฒนา การพิจารณาเลื่อนขั้น หรือตำแหน่งหน้าที่ การเลิกจ้าง และการเกษียณอายุการทำงาน รวมถึงจะไม่แทรกแซง ขัดขวาง หรือกระทำการใดๆ อันเป็นผลกระทบต่อการใช้สิทธิหรือวิธีปฏิบัติของพนักงาน อันเนื่องมาจากเหตุความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา ภาษา อายุ เพศ สถานภาพการสมรส ความพิการ การเป็นสมาชิกของคณะกรรมการลูกจ้าง ความนิยมในพรรคการเมือง หรือแนวคิดส่วนบุคคลอื่นๆ
6.7 แนวปฏิบัติด้านสภาพแวดล้อม ความปลอดภัยในการทำงาน บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้พนักงานทุกคนปฏิบัติงานอย่างมีมาตรฐาน ส่งเสริมสภาพการจ้างงานที่เหมาะสมให้แก่พนักงาน รวมถึงดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย เพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนใส่ใจในมาตรฐานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในระดับสูง โดยจะป้องกันอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงานในระหว่างการปฏิบัติงานภายใต้การคุ้มครองและปฏิบัติอย่างเป็นธรรมบนพื้นฐานทางสังคมและบทบัญญัติของกฎหมาย โดยจะมีการทบทวน พัฒนา และปรับปรุงให้เหมาะสมอยู่เสมอ
6.8 แนวปฏิบัติด้านการป้องกันความรุนแรง การข่มขู่คุกคาม และการล่วงละเมิด ส่งเสริมสภาพการทำงานที่ให้เกียรติกัน และมีมาตรการป้องกันไม่ให้พนักงานถูกข่มขู่คุกคาม และการล่วงละเมิดต่อบุคคลใดในทุกรูปแบบ ไม่กระทำการที่เป็นการใช้อำนาจไม่พึงประสงค์ หรือกระทำการที่ส่อไปในทางเพศ โดยการแสดงออกด้วยคำพูด ท่าทาง การสัมผัสทางกาย หรือด้วยวิธีการอื่นใด หากพนักงานถูกคุกคามและหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ บริษัทฯ จะดำเนินการพิจารณาโทษทางวินัยกับผู้ที่กระทำผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด
6.9 แนวปฏิบัติด้านการจ่ายค่าตอบแทนการทำงาน บริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนการทำงาน ค่าล่วงเวลา และสิทธิประโยชน์ที่พนักงานพึงได้รับตามกฎหมายให้แก่พนักงาน ไม่น้อยกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ และจัดให้พนักงานได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้าง และค่าตอบแทนจากการทำงานที่ได้รับทั้งหมดในแต่ละงวด
6.10 แนวปฏิบัติด้านชั่วโมงการทำงาน ไม่ให้พนักงานทำงานนานเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุด โดยมีการระบุเวลาทำงานปกติ กำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานของพนักงานไว้อย่างชัดเจน กำหนดให้มีเวลาพักระหว่างปฏิบัติงาน และเวลาพักรับประทานอาหาร การให้สิทธิพนักงานในวันลาต่างๆ วันพักร้อน และวันหยุด ตามที่กฎหมายกำหนด
6.11 แนวปฏิบัติด้านการเลิกจ้างและการจ่ายค่าชดเชย ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้กำหนดหน้าที่ของนายจ้างและสิทธิของพนักงาน (ลูกจ้าง) กรณีการเลิกจ้าง โดยบริษัทฯ จะไม่ทำการเลิกจ้างพนักงานโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร รวมถึงพนักงานจะได้รับการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนการเลิกจ้างและได้รับค่าชดเชยตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้
6.12 แนวปฏิบัติด้านเสรีภาพในการรวมตัวกันโดยสันติเพื่อเจรจาต่อรอง เคารพสิทธิพนักงานและการให้เสรีภาพในการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมสมาคม หรือชมรมต่างๆ โดยการรวมตัวกันจะต้องกระทำด้วยสันติและปราศจากอาวุธ ไม่กระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานและความต่อเนื่องในการให้บริการลูกค้า บริษัทฯ จะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการจำกัดสิทธิในการรวมตัวกันของพนักงาน เว้นแต่การจำกัดสิทธินั้นกระทำ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวม รักษาความสงบเรียบร้อยหรือป้องกันมิให้กระทำผิดกฎหมายหรือจรรยาบรรณทางธุรกิจ
7. การบริหารจัดการและวิธีการปฏิบัติเพื่อการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD)
บริษัทฯ กำหนดให้มีการดำเนินการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน ผ่านกระบวนการบริหารความเสี่ยง โดยได้อ้างอิงหลักการสำคัญ ตามที่ระบุไว้ในหลักการชี้แนะของสหประชาชาติ 5 องค์ประกอบ ดังนี้
7.1 การประกาศนโยบายและหลักการของบริษัทที่ว่าด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการเคารพสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติต่อแรงงาน/ผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรอย่างเป็นธรรม โดยได้ดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชน ภายใต้กฎหมายแรงงาน และข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานอย่างเป็นธรรม
7.2 การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงหรือมีแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมของบริษัทฯ กำหนดให้ทุกหน่วยงานภายในองค์กร ประเมินสถานะโอกาสหรือความน่าจะเป็น และผลกระทบที่เกิดขึ้นด้านสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่อแรงงาน ผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรอย่างเป็นธรรม จากการมีส่วนร่วมหรือมีความเชื่อมโยงในการดำเนินกิจกรรมของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งพิจารณาจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกที่อาจได้รับผลกระทบดังกล่าว เช่น พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า ผู้บริโภค และชุมชน เป็นต้น
7.3 การบูรณาการนโยบายเข้ากับการประเมิน รวมถึง กลไกควบคุมภายในและภายนอก ทุกหน่วยงานต้องดำเนินการระบุเหตุการณ์ความเสี่ยง และปัจจัยเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องกับ
กิจกรรมของหน่วยงาน ซึ่งเป็นกิจกรรมการดำเนินงานทางธุรกิจของบริษัทฯ โดยให้ประเมินระดับความเสี่ยงโดยใช้เกณฑ์ความเป็นไปได้ (Likelihood) และผลกระทบที่เกิดขึ้น (Impact Level) เช่น สิทธิพนักงาน สิทธิชุมชนท้องถิ่นหรือสังคม สิทธิผู้บริโภคหรือลูกค้าสิทธิคู่ค้าทางธุรกิจ และสิทธิของผู้ถือหุ้น เป็นต้น เพื่อดำเนินการจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้น พร้อมทั้ง กำหนดมาตรการป้องกันการบรรเทาหรือเยียวยาผลกระทบอย่างครบถ้วน เพื่อควบคุมในความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) ไม่เกิดผลกระทบต่อหน่วยงานและองค์กร
7.4 การติดตามและการรายงานผลการดำเนินงาน กำหนดให้มีการติดตามและรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงเป็นประจำทุกไตรมาส ตามกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กร และเปิดเผยผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนเป็นประจำทุกปี ผ่านแบบ 56-1 One Report รวมทั้งให้ฝ่ายตรวจสอบภายใน ตรวจสอบความเพียงพอของมาตรการป้องกัน ความครบถ้วน ในการกำหนดแนวทางปฏิบัติ และความถูกต้องของการรายงานข้อมูล อีกทั้ง ให้แต่ละหน่วยงานภายในองค์กรดำเนินการ ฝึกอบรม และสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ให้พนักงานภายในหน่วยงาน เกิดความรู้ ความเข้าใจในแนวทางการบริหารจัดการเรื่องสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงาน/ผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรอย่างเป็นธรรม ทั้งภายในหน่วยงานและหน่วยงานภายนอกที่ได้มีการติดต่อประสานทางธุรกิจ เช่น คู่ค้า ลูกค้า ชุมชน และบุคคลอื่นๆ
7.5 การดำเนินงานแก้ไขให้ถูกต้อง และแนวทางการบรรเทา/เยียวยา
7.5.1 หากกรณีที่มีเหตุการณ์ละเมิดด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงาน/ผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร บริษัทฯ จัดให้มีช่องทางในการรายงานเบาะแส หรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนรวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่ฝ่าฝืนกฎหมายของพนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ มีกลไกปกป้องพนักงาน และผู้แจ้งเบาะแตามข้อบังคับและระเบียบการทำงานของบริษัทฯ รวมถึง การเข้าถึงข้อมูลได้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
7.5.2 หัวหน้างาน เจ้าหน้าที่ และพนักงานทุกคน หรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงาน เรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ตาม หากปล่อยปละละเลย หรือละเว้น หรือไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในหน้าที่ความรับผิดชอบ หรือเป็นผู้กระทำผิดเอง อันส่งผลทำให้เข้าข่ายลักษณะเป็นการฝ่าฝืนด้านการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงาน/ผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร อย่างเป็นธรรม บริษัทฯถือว่าเป็นโทษทางวินัยของพนักงาน ตามที่ได้ระบุไว้ในข้อบังคับ และระเบียบการทำงาน โดยจะดำเนินการตามขั้นตอนของบริษัทฯ อย่างเร่งด่วน และจะพิจารณาลงโทษตามข้อบังคับ และระเบียบการทำงานของบริษัทฯ และหากการกระทำดังกล่าว เป็นเหตุทำให้เกิดความผิดตามข้อกฎหมาย จะพิจารณาดำเนินคดีความตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
7.5.4 กรณีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิด และ/หรือ เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม บริษัทฯ จะกำหนดให้มีผู้แทนขององค์กร ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในการดำเนินการในเรื่องต่างๆ เช่น การเจรจาไกล่เกลี่ย ติดตาม และตรวจสอบผลการพิจารณาจากคณะกรรมการสอบสวนที่เกี่ยวข้อง หรือหน่วยงานภาครัฐ (ถ้ามี) พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือต่อผู้ถูกละเมิดในเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วนในช่วงระหว่างการพิจารณา เพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่วิถีชีวิตตามปกติ สำหรับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ผู้ถูกละเมิดพึงจะได้รับนั้นขึ้นอยู่กับผลการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวน ภายใต้เหตุของพฤติการณ์ และความร้ายแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสภาพความเสียหายที่ผู้ถูกละเมิดพึงจะได้รับ รวมทั้งโอกาสที่ผู้ถูกละเมิด จะได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่นด้วย
ตามความเหมาะสม และ/หรือ ตามคำสั่งหรือข้อกฎหมายได้กำหนดไว้
8. การฝึกอบรม
จัดให้มีการสื่อสารและถ่ายทอดนโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้าน แรงงานผ่านการฝึกอบรม การประชุม หรือกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสม ให้แก่ กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานและผู้มีส่วนได้เสียภายนอก ซึ่งรวมถึงคู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ กิจการร่วมค้าและสาธารณชน ตลอดห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงจัดให้มีการประเมินประสิทธิผลหลังการฝึกอบรมทุกครั้ง
9. การแจ้งเบาะแส
ร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเมื่อพบเห็นการกระทำที่เชื่อได้ว่าเป็นการละเมิดนโยบายและแนวปฏิบัตินี้ โดยขั้นตอนให้เป็นไปตามนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการแจ้งเบาะแส ทั้งนี้ ผู้ร้องเรียน หรือผู้แจ้ง เบาะแสจะได้รับความคุ้มครองและข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับ โดยไม่มีผลต่อตำแหน่งงาน ทั้งในระหว่างดำเนินการสอบสวนและหลังเสร็จสิ้นกระบวนการ
ช่องทางการรับข้อร้องเรียนและแจ้งเบาะแส ดังนี้
1) กล่องรับข้อร้องเรียน หรือไปรษณีย์ตามที่อยู่ของบริษัทฯ
2) รายงานข้อมูลโดยตรงกับคณะกรรมการบริษัทฯ และคณะกรรมการบริหาร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3) จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) ถึงเลขานุการบริษัทฯ หรือแผนกบริหารทรัพยากรบุคคล หรือฝ่ายตรวจสอบภายใน
4) เว็บไชต์ของบริษัทฯ ในหัวข้อการแจ้งเบาะแส หรือ ข้อร้องเรียน
10. บทลงโทษ
ในกรณีที่เกิดการสอบสวน พนักงานทุกคนต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภายในและภายนอกอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ หากผู้บริหารและพนักงานกระทำการใดๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ผู้บริหารและพนักงานจะถูกพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบข้อบังคับการทำงาน
11. การทบทวนนโยบาย
กำหนดให้คณะทำงานการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และแผนกบริหารทรัพยากรบุคคลร่วมกันทบทวนนโยบายฉบับนี้อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป